top of page
26_edited_edited.jpg
ชีวประวัติหลวงพ่อเพี้ยนและวัดเกริ่นกฐิน

พระครูวิมลสมณวัตร (เพี้ยน  อคฺคธมฺโม)

เจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน อายุ ๘๗ พรรษา ๓๗ 

ภาพอดีตตอนท่านอยู่กุฏิไม้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว.jpg

หลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธมฺโม มีนามเดิมว่านายเพียร ยอดวัน เกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล ทางราชการได้พิมพ์ทะเบียนราษฎร์ เกิดความคลาดเคลื่อน เป็น “เพี้ยร”   และกลายเป็น “เพี้ยน” จนถึงปัจจุบัน

เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน ๗ คนของโยมพ่อเตาะ และโยมแม่เล็ก 

๑.นายพัว ๒.นายเพียร ๓.นายผิน ๔.นางลำใย ๕.นางเย็น ๖.นางฉลวย และ ๗.นางสำรวย

 

ท่านได้รับการศึกษาเล่าเรียนจากโยมพ่อเตาะที่ได้เดินทางมากับหลวงพ่อปาน และได้เข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรภาคบังคับจนสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดท้องคุ้ง จากนั้นพ่อและแม่ก็นำไปฝากเป็นศิษย์วัดเกริ่นกฐิน ซึ่งมีพระอาจารย์ปานเป็นพระเถระรูปสำคัญ จึงได้มีโอกาสศึกษาสรรพวิทยาคมจากหลวงพ่อปานมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีโยมพ่อเตาะ คอยอบรมสั่งสอนควบคู่กันไปด้วย

 

ในช่วงหนึ่งของชีวิตในวัยหนุ่มขณะที่พ่อและแม่ได้เสียชีวิต นายเพี้ยน ยอดวัน ผู้เป็นพี่ชาย ของครอบครัวก็ได้รับภาระเลี้ยงดูน้องๆ ด้วยการประกอบอาชีพทำนาหาเงินเพื่อดูแลน้องๆในครอบครัวไม่ให้อด นายเพี้ยน ยอดวันได้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง และ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบททดแทนคุณพ่อแม่ เป็นเวลา ๑ ปี จึงได้ลาสิกขา และได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติอยู่ ๒ ปี เมื่อปลดประจำการ ก็ได้กลับมาประกอบอาชีพทำนา ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว และปฏิบัติตนเป็นศิษย์วัดเสมอมามิได้ขาด

 

หลังจากนั้นไม่นานนายเพี้ยน ยอดวันก็ได้พบรักกับหญิงสาวต่างหมู่บ้าน นามว่านางสาวเฉลียว เครือแตง มีลูกด้วยกัน ๙ คน ๑.นายประเสริฐ ๒.นายบุญส่ง ๓.นายบุญยืน ๔.นางละมัย ๕.นายประยงค์ ๖.นายบุญยัง ๗.นายบุญช่วย ๘.นางละเมียด และ ๙.นายประดิษฐ์ นอกจากการประกอบอาชีพทำนาแล้ว ด้วยความเป็นคนรักสนุก และมีความเป็นศิลปินในตัว หลังจากหมดฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะลิเก ชื่อว่า “ศรีเจริญเผชิญโชคชัย” นายเพี้ยน ยอดวันรับบทเป็นตัวตลกคู่กับพระเอก เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม จนเป็นที่ชื่นชอบ และเป็นขวัญใจของบรรดาแม่ยกทั้งหลาย ไม่แพ้พระเอกเลยทีเดียว

 

ท่านเคยเล่าว่า “กูเกิดสมัยผู้หญิงเคี้ยวหมาก ผู้ชายสูบยา” รวมทั้งการร่ำสุราเพื่อให้เกิดความกล้า ที่จะแสดงออก ยิ่งดื่มเข้าไปมากเท่าไร บรรดามุกตลกโปกฮา ยิ่งพรั่งพรูเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ชม มิใช่น้อย การดื่มสุราของท่านนี้เอง ยิ่งดื่มยิ่งสนุก ยิ่งดื่มก็ยิ่งสุขรวมถึงการพนันขันต่อ ตามวิถีเยี่ยงชาวชนบท ท่านก็ผ่านมาหมดแทบทุกชนิด ทั้งไฮโล โป ถั่ว สารพัด แน่นอนว่า เมื่อเข้าไปในบ่อนแล้วก็มักจะร่ำสุรา ยาเมาทำให้ติดสุรา เรียกกันว่าเป็น “นักเลงสุรา”ในฉายา “ตาเพี้ยน ขี้เมา” เลยทีเดียว

 

ท่านเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางลัดเลาะคันนาจะกลับบ้าน ท่านพบเห็นคนกำลังลองวิชาอาคมกันด้วยการปลุกพระเครื่องมาแขวนที่กิ่งไม้ แล้วยิงด้วยปืนแก๊ป ด้วยอาการที่เริ่มจะกรึ่มเหล้า จึงนึกสนุกอยากจะลองวิชาที่มีอยู่ในตัว จึงนำผ้าขาวม้าที่เคียนเอวมานำมาขอด แล้วบริกรรมคาถานำไปผูกที่กิ่งไม้เพื่อให้ลองยิง ปรากฏว่ากระสุนไม่ลั่นไกปืน จนพวกที่ลองวิชาของขลัง พยายามเอาเหล้า “น้ำขาว” มาให้ท่านดื่มหมายจะมอมให้เมา จะได้ของดีที่มีอยู่ในตัว แต่ท่านก็สามารถครองสติได้โดยไม่หวั่นไหวใดๆ จนเป็นที่โจษขานของชาวบ้านว่า ตาเพี้ยนแกมีวิชาขลังฉมังนัก กล่าวกันว่าในขณะที่ครองเพศคฤหัสถ์อยู่นั้น ท่านก็ทบทวนสรรพวิชาของท่านมาโดยตลอด

 

จุดหักเหของชีวิตครั้งใหญ่นี้ก็มาถึง เมื่อท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตการเป็นคฤหัสถ์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเอาแต่เมา และเกิดความสงสารภรรยาและลูกๆที่ต้องคอยตามพาพ่อกลับบ้าน เพราะความเมามายของตัวเอง เวลาเมาก็มานอนวัด และก็วนเวียนเข้าออกวัดอยู่เป็นประจำ ทำไมเราไม่มาบวชเสียให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ด้วยสัจจะที่แน่วแน่ที่จะหันหลังให้กับชีวิตทางโลก แล้วก็ได้อุปสมบทอีกครั้งด้วยวัย ๕๐ ปี ณ พัทธสีมาวัดกำแพง ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่จังหวัดลพบุรี เมื่อวัน ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ โดยมี พระครูพิพัฒน์สารคุณ (ทองเจือ ฐิติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดกำแพง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระประเสริฐ วัดท้องคุ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสัญทัศน์ วัดกำแพงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณฉายาว่า “อคฺคธมฺโม” แปลว่า “ผู้มีธรรมะอันเลิศ” เมื่ออุปสมบทสำเร็จเป็นพระภิกษุแล้ว พระเพี้ยน อคฺคธมฺโม ก็ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์กลับมาจำพรรษา ณ วัดเกริ่นกฐิน บ้านเกิด เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และอธิษฐานจำพรรษาหลัง หรือ ปัจฉิมพรรษา เพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งจะไปสิ้นสุดการจำพรรษา ในวันลอยกระทง

 

และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ และในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามที่ "พระครูวิมลสมณวัตร"

 

หลวงพ่อเพี้ยนพระผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา เป็นพระผู้เสก พระผู้สร้าง และเป็นพระผู้ให้ พระผู้เสก เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อหลวงพ่อท่านได้อุปสมบทเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็มิเคยละเลยกิจวัตรของสงฆ์ ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น สั่งสอนอบรมพระลูกวัดอยู่เสมอ ท่านปฏิบัติกิจอย่างเคร่งครัดมิได้ขาด

 

เมื่อหลวงพ่อท่านว่างมีเวลาก็ได้เริ่มนำความรู้สรรพวิชาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากหลวงพ่อปาน และโยมพ่อเตาะ ตอนยังเป็นคฤหัสถ์ นำมาปฏิบัติ ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา

 

หลวงพ่อท่านจะปลุกเสกวัตถุมงคล และทำน้ำพระพุทธมนต์ เป็นประจำทุกวัน เช้า และเย็น วันละ 2 ครั้ง แทบจะไม่ได้ขาดถ้าไม่มีกิจนิมนต์หรือเหตุจำเป็น และการปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อแต่ละครั้งใช้เวลาครั้งละไม่เกิน 2 ช.ม.ทุกครั้ง และทุกวันหลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้วท่านก็จะมานั่งรับลูกศิษย์ทั้งวัน บางคนก็มาให้หลวงพ่ออาบน้ำมนต์ให้ บางคนก็มาให้หลวงพ่อเป่าหัวลงกระหม่อมให้เพื่อเป็นสิริมงคล บางคนก็มีวัตถุมงคลมาให้ปลุกเสก บางคนก็ให้เขียนอักระเลขยันต์ ท่านก็ทำให้ทุกคนที่มาขอให้ท่านทำท่านไม่เคยขัด ไม่ว่าคนจน คนรวย หรือมาก่อนมาหลัง ท่านก็ทำให้ทุกคนด้วยความเมตตา ในระหว่างที่ไม่มีคน ท่านก็ได้นั่งเขียนอักขระเลขยันต์ลงบนแผ่นโลหะเนื้อทองแดง เพื่อทำเป็นตะกรุดโทน ถ้าตะกรุดโทนเขียนได้เยอะแล้ว ท่านก็จะเขียนอักขระเลขยันต์ลงบนผ้าสีแดง เรียกว่าผ้ายันต์แดง และตัดขี้ผึ้งเป็นชิ้นเล็กๆห่อด้วยพลาสติกใสสีส้มที่ห่อเครื่องสังฆทานมา แล้วนำเข้าไปสอดไว้ด้านในของผ้ายันต์แดงที่พับไว้แล้ว แล้วนำเข้าพิธีปลุกเสกตลอดไม่ว่าจะกี่วันกี่เดือนท่านก็ปลุกเสกและปฏิบัติอยู่อย่างนั้นตลอดมา

 

ตะกรุดโทนและผ้ายันต์แดงถือได้ว่าเป็นวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธมฺโมเป็นวัตถุมงคล 2
สิ่งที่หลวงพ่อได้จารอักขระเลขยันต์เองและอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอด ตามตำรับของครูบาอาจารย์คือหลวงพ่อปานพระภิกษุเขมรผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาให้ตั้งแต่ยังเยาว์ ท่านได้หมั่นฝึกจิตในการนั่งปลุกเสกตลอดมา

 

เมื่อจิตนิ่งสงบดีแล้วท่านก็ได้ทำตะกรุดโทนดำน้ำครั้งแรกเมื่อ วันพระเดือนเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เวลาเที่ยงคืน ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ทำได้ประมาณ ๒๐ ดอก

 

พิธีจารอักขระเลขยันต์โดยการลงไปจารในน้ำ นั้นมีคนที่ลงไปในน้ำกับหลวงพ่อนั้นเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อจะนำแผ่นอิฐลงไปวางใต้น้ำแล้วปักไม้ยาว ให้ใกล้กับแผ่นอิฐและให้สูงเหนือน้ำเพื่อใช้ในการจับรูดลงไปเพื่อให้ตรงกับแผ่นอิฐที่วางไว้ เวลาดำน้ำนำแผ่นทองแดงลงไปจารอักขระเลขยันต์จะได้ตรงตำแหน่ง และเวลาดำน้ำขึ้นก็จะได้ใช้มือจับไม้ตามไม้ขึ้นมาเพื่อนำแผ่นทองแดงสับเปลี่ยนกันลงไปจารอักขระ เลขยันต์ทีละแผ่น ก่อนจะดำลงน้ำหลวงพ่อเล่าว่าต้องเอาสำลีอุดหูเพื่อป้องกันแรงดันน้ำอัดหูจะไม่ทำให้หูอื้อ และนำมาเข้าพิธีปลุกเสกเดี่ยว

 

หลวงพ่อท่านได้เล่าในสิ่งที่หลวงพ่อเห็น สิ่งที่หลวงพ่อได้ประสบพบเจอ ในเรื่องต่างๆมากมาย ให้ฟังในขณะที่นั่งปลุกเสก และในขณะที่ท่านนั่งจารอักขระเลขยันต์อยู่ในกุฏิมีเหตุการณ์หลายเรื่องราว รวมถึงการขอลองวัตถุมงคล ที่ได้รับฟังมา มันช่างตื่นเต้นและไม่น่าเชื่อจริงๆว่าหลวงพ่อจะผ่านพ้นมาได้ และหลวงพ่อยังบอกอีกว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในทุกขณะที่เราปฏิบัติ ให้ทำจิตตั้งมั่นให้เข้มแข็งและอย่าละสายสิญจน์เด็ดขาด

 

เคยมีคนมาถามท่านว่าทำไมหลวงพ่อปลุกเสกนานและปลุก เสกทุกวัน ท่านก็ตอบว่าปลุกเสกทุกวันพุทธคุณมันก็ดี ของทุกอย่างถ้าเราหมั่นทำมันด้วยจิตที่นิ่งแน่วแน่ ด้วยความเพียร ความมานะ ของสิ่งนั้นมันก็มีคุณค่า ใครที่นำเอาไปใช้มันก็มั่นใจในพุทธคุณ บางคนก็มาถามว่าวัตถุมงคลหลวงพ่อดีทางด้านไหน หลงพ่อท่านก็จะตอบว่าของกูดีทุกด้าน เพราะกูเสกคนเดียว ทำคนเดียว ของๆกู กูทำให้เอาไปใช้กัน ไม่ใช่ทำให้พวกมึงเอาไปเก็บกัน ถ้าเอาไปเก็บไม่ต้องเอาไปดีกว่า เอาไว้ให้คนอื่นเขาเอาไปใช้

 

หลวงพ่อจะสอนทุกคนเสมอว่าวัตถุมงคลไม่ใช่ทำให้คนไม่ตาย แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากหนักให้กลายเป็นเบา จากเบาให้มันแคล้วคลาด วัตถุมงคลจะช่วยได้ก็เฉพาะคนคนดีที่มีศีลมีธรรม ไม่ทำบาป ทำชั่ว หมั่นทำบุญให้ทาน สะสมเสบียงบุญเพื่อนำติดตัวไปใช้ในภพภูมิเบื้องหน้า เราทำของเราเอาไว้เราก็จะได้เจอะเจอกับของๆเรา เราจะมีกินของเรา ไม่ไปแย่งเขากิน เรามีก็แบ่งให้คนอื่นกินเราก็ได้บุญ

 

หลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธมฺโม ท่านได้เป็นกำลังหลักสำคัญในการก่อสร้างถาวรวัตถุทั้งปวงในวัดเกริ่นกฐิน ไม่ว่าจะเป็น อุโบสถ, เจดีย์ ,วิหาร, ศาลา, ฌาปนสถาน, กุฏิ และอุทยานวิมลธรรมวัตร ด้วยได้รับการสนับสนุนแรงทรัพย์ แรงกายและแรงใจจากชาวบ้าน พุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศ ที่เคารพรักและศรัทธาในปฏิปทา ศีลาจารวัตรอันงดงาม ที่ทำให้ทุกคนกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ และยังได้บริจาคทุนทรัพย์ สิ่งของ อุปการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ อนุเคราะห์สงเคราะห์แก่หน่วยงาน ต่างๆ มากมาย อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และส่วนราชการ ที่ปรากฏเป็นประจักษ์หลักฐานเป็นอเนกประการ ควบคู่กับการนำวิชาความรู้ ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยเหลือพระศาสนา และผู้คน ตามแต่ที่ผู้ศรัทธาจะมาขอเมตตา จนได้รับสมญาว่า “พระผู้เสก พระผู้สร้าง พระผู้ให้”

 

หลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธมฺโมได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ และในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนามที่ "พระครูวิมลสมณวัตร"

 

พระครูวิมลสมณวัตร (เพี้ยน อคฺคธมฺโม) ได้อาพาธและเข้ารับการรักษาที่ สถาบันโรคทรวงอก ปากเกร็ด นนทบุรี คุณหมอได้ลงความเห็นว่าติดเชื้อในกระแสเลือด และถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ เวลา ๓ นาฬิกา ๒๕ นาที ของวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ สิริอายุได้ ๙๑ ปี ๗ เดือน ๕ วัน

 

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอังคารที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ณ เมรุปราสาทนกหัสดีลิงค์ วัดเกริ่นกฐิน ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

คำสอนของหลวงพ่อ

 

“ทำจริง รู้จริง เห็นจริง ทำเล่นๆ มันจะเกิดประโยชน์อะไร ”

---------------------------------------------------------- 

“ทุกอย่างมันเป็นของสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น แม้แต่ชื่อ

กู เพราะมันต้องมีใช้เรียกกัน จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร ไอ้หมา ไอ้แมวยังมีเลย  กูก็ยังชื่อเพี้ยน”

---------------------------------------------------------

 “กูเตรียมเสบียงกลับ เวลากูกลับกูจะได้ไปกินไปใช้ของกูข้างหน้าโน้น ลูกหลานทุกคนก็เช่นเดียวกัน ทุกคนอย่าประมาท อย่างอื่นมันไป

กับเราไม่ได้หรอก นอกจากบุญกุศล นี่แหละมันจะติดตัวเราไป หมั่นสะสมความดีกันเด้อ”

-----------------------------------------------------------

“กูทำไว้ให้พวกมึงเอาไปใช้กัน  ให้เอาไปติดตัว ไม่ได้ให้เอาไปเก็บ ของกูทุกอย่างที่ทำ กูเสกเป็นปีๆโน้น ไม่ใช่แค่สามเดือน กูเสกทุกวัน ของทุกอย่างดีเหมือนกันหมด เพราะกูเสกคนเดียว”

-----------------------------------------------------------

27_edited.png
bottom of page