ประวัติวัดเกริ่นกฐิน
เลขที่ ๓๘ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
วัดเกริ่นกฐินเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่บ้านเกริ่นกฐิน เลขที่ ๓๘ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินจำนวน ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา มีอาณาเขตทิศเหนือจรด ทางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จรดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจรด ที่ดินของโยมเหนียม หาญทะนง ทิศตะวันตกจรดทางสาธารณประโยชน์
พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูงเดิมมีพื้นที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๑๗ ตารางวา ได้รับบริจาค จาก นายจ่าย นางนาค จันทร์ประภานนท์ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาส ให้สัมภาษณ์ว่า วัดเกริ่นกฐิน เป็นวัดเก่าที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเกริ่นกฐิน ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างในปีพ.ศ.ใด แต่ชาวบ้านรู้ว่าวัดแห่งนี้มีคู่กับหมู่บ้านแห่งนี้มาเนิ่นนานแล้ว บริเวณพื้นที่เป็นป่าเต็มไปด้วยป่าไผ่ ต้นสะแก และต้นกฐินป่าที่เกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ พื้นที่ดินจะเป็นเนินสูงเวลาน้ำหลากหรือน้ำท่วมพื้นที่ดินผืนนี้น้ำจะไม่ท่วม สภาพพื้นดิน จะเป็นดินเหนียวปนทราย รอบๆบริเวณที่สร้างกุฎีเป็นทุ่งนาของชาวบ้านโดยรอบ สมัยก่อนเป็นกุฎีที่สร้างด้วยไม้โดยมีชาวบ้านยกบ้านให้กับวัดมาสร้าง หลังที่ ๑ โยมเปลี่ยนบ้านเขาปกล้นเป็นผู้ถวายไม้สร้าง หลังที่ ๒ โยมผันบ้านคุ้งระกำถวายไม้สร้าง หลังที่ ๓ โยมเลื่อมบ้านหนองจอกเป็นผู้ถวายไม้สร้าง และได้สร้างศาลาไม้ ๑ หลัง ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มองดูสภาพสวยงามตามแบบทรงไทย สมัยก่อนชาวบ้านที่มาทำบุญประกอบไปด้วย ๕ หมู่บ้านด้วยกัน บ้านหนองจอก,บ้านหนองสะเดา,บ้านหนองชุมนุม ,บ้านเขาปกล้น,บ้านทุ่งสาธารณ์ ทางเดินก็เดินตามคันนา ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ การเดินทางไม่สะดวกเพราะเป็นทางคันนา ไม่มีรถวิ่ง จะเดินทางไปธุระที่ต่างๆก็ต้องใช้วัวเทียมเกวียนเป็นพาหนะขนสิ่งของ
วัดได้เปิดเป็นโรงเรียนให้ชาวบ้านที่ต้องการเรียนหนังสือมาเรียนกันที่วัด บนศาลาการเปรียญที่สร้างด้วยไม้ไม่มีฝากั้น มีคุณครูมาสอน และคุณครูจะนอนประจำอยู่ที่วัด เปิดสอนเฉพาะชั้นประถมปีที่ ๑ ถึง ชั้นประถมปีที่ ๔
ศูนย์รวมความศรัทธายึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านนอกจากจะเป็นเจ้าอาวาส พระลูกวัดแล้วก็ยังมีพระพุทธรูปฝีมือชาวบ้านที่ช่วยกันปั้นจากปูนซีเมนต์ ชื่อว่า “หลวงพ่อปาน”
หลวงพ่อปาน เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยฝีมือชาวบ้านที่รักเคารพและศรัทธาในตัวหลวงพ่อปาน ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ มีพระอีกหลายรูปที่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ แต่ผู้เล่าจำความไม่ได้เพราะยังเป็นเด็กอยู่เท่าที่จำความได้ก็หลวงพ่อปานเท่านั้นที่ผู้เล่าเกิดทัน หลวงพ่อปานท่านเป็นพระชาวเขมรแต่พูดไทยได้ เพราะท่านได้เดินทางเข้ามาอยู่ประเทศไทยนานแล้ว ได้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้นานกว่ารูปอื่นๆ และได้เริ่มปฏิสังขรณ์กุฏี และดูแลวัด คอยช่วยเหลือชาวบ้านเวลาชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนต่างๆ เช่นเป่าลมพิษบ้าง ทำน้ำมนต์ให้ชาวบ้านนำมาดื่มและประพรมในบ้านบ้าง เวลาญาติโยมโดนคุณไสย์มนต์ดำ ทำมีดหมอลงอาคมขับไล่ภูติผีต่างๆ ชาวบ้านต่างก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อปาน อยู่มาจนท่านอาพาธและได้มรณภาพลง ชาวบ้านก็ช่วยกันจัดพิธีตามความเหมาะสมแบบเรียบง่าย ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพและเผาศพกันเองด้วยกองฟอน เพราะที่วัดเกริ่นกฐินยังไม่มีเมรุเผาศพ หลังจากนั้นชาวบ้านได้ช่วยกันนำปูนมาปั้นเป็นองค์พระพุทธรูป และนำอัฐิหลวงพ่อปานบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปและตั้งชื่อพระพุทธรูปนั้นว่า “หลวงพ่อปาน” ตามชื่อของหลวงพ่อปาน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ชาวบ้านช่วยกันปั้นด้วยแรงศรัทธา และเป็นพระพุทธรูปที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านให้ได้เข้ามาทำบุญที่วัด ขอพร
โยมลุงสำอางค์ อิ่มมาก อายุ ๘๕ ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๓ กรมพัฒนาที่ดินเริ่มเข้ามาขุดคลองชลประธาน และได้สร้างถนนลูกรังเข้าวัดเป็นครั้งแรก ทำให้การเดินทางเริ่มสะดวกขึ้น และเริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มาสำรวจประชากรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง เห็นว่ามีประชากรมากพอและได้ทำการก่อสร้างโรงเรียนบ้านเกริ่นกฐินขึ้นมา สอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมปีที่ ๗ นักเรียนที่เรียนที่วัดได้ย้ายไปเรียนที่ โรงเรียนบ้านเกริ่นกฐิน เมื่อมีความสะดวกในการเดินทาง ชาวบ้านก็เริ่มเข้ามาสร้างบ้านบนผืนที่ดินของตนเอง และเริ่มมีชาวบ้านมากขึ้นตามลำดับ และวัดก็ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยการบอกบุญผ้าป่า,บุญกฐินสามัคคี เพื่อนำปัจจัยรายได้สร้าง อาคารเสนาสนะต่างๆ เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ซื้อที่ดินของนายเดชา จันทร์ประภานนท์ เป็นที่ดินว่างเปล่าติดกับพื้นที่วัด ๑ แปลง จำนวน ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๗๖ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมปัจจุบันวัดเกริ่นกฐิน มีเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา
วัดมีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง จำนวน ๔๒ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา โยมผัน หอมพิกุล เป็นผู้ถวาย เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
ความเป็นมาของชื่อ “วัดเกริ่นกฐิน” ถามโยมลุงสำอาง อิ่มมาก ท่านก็ให้คำตอบว่า สมัยก่อนที่วัดมีป่าไผ่ ต้นสะแกและต้นกฐินป่าเยอะมากและพื้นที่จะเป็นเนิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เกริ่น” และชาวบ้านที่อยู่ในระแวกใกล้เคียงเรียกพื้นที่ที่วัดตั้งวัดอยู่ว่า “วัดเกริ่นกฐิน” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน